สุขภาพ

เมื่อเป็น ‘นักวิ่ง’ ก็ย่อมต้องเจอกับอาการบาดเจ็บ

เมื่อเป็น 'นักวิ่ง' ก็ย่อมต้องเจอกับอาการบาดเจ็บ

เดี๋ยวนี้เทรนด์ออกกำลังกายด้วยการวิ่งกำลังมาแรง เพราะแทบไม่ต้องมีอุปกรณ์ หรือตัวช่วยใดๆ เพียงแค่มีเวลากับสถานที่สำหรับวิ่งเท่านั้นก็เพียงพอ นับว่าเป็นการดูแลสุขภาพที่ทำได้ง่ายๆ ใช้เวลาแค่ 30 นาที ถึงหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายด้วยรูปแบบใดก็ย่อมมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้นได้ ถึงแม้จะเป็นนักวิ่งมืออาชีพแล้ว ยิ่งมือสมัครเล่นก็ต้องยิ่งระวัง ควรเริ่มจากทีละน้อย ค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นจึงจะดี วันนี้เราก็มีข้อมูลมากฝากกันว่าการจะออกวิ่งแต่ละที ทำให้เราเกิดการบาดเจ็บในส่วนใดได้บ้าง

อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเมื่อออกวิ่ง

1. กระดูกล้า กระดูกหัก (Stress Fracture)

อาการเช่นนี้เป็นอาการที่พบได้บ่อยในนักวิ่งมาราธอนจากสาเหตุที่ต้องฝึกซ้อมเป็นอย่างหนักและเป็นเวลายาวนาน ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนล้า ทำให้กระดูกไม่สามารถรับน้ำหนัก หรือแรงกระแทกได้มากอย่างที่เคยเป็น จนเกิดการแตกหักเล็กๆ อยู่ภายในโครงสร้างกระดูก บริเวณที่สามารถพบอาการเหล่านี้ได้บ่อย คือ บริเวณกระดูกเหนือข้อเท้า เป็นๆ หายๆ เมื่อหยุดวิ่งก็จะไม่มีอาการ แต่เมื่อกลับมาออกวิ่งอีกครั้งอาการปวดก็จะกลับมา ซึ่งเมื่อเราไปพบแพทย์และเอกซเรย์กระดูกดูจะไม่เห็นรอยแตก เนื่องจากมีขนาดที่เล็กมาก ฉะนั้นต้องระวัดระวังในการวิ่ง

2. อาการบาดเจ็บที่บริเวณหัวเข่าด้านนอก (Iliotibial Band Friction Syndrome)

อาการนี้ รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์แพทย์ออร์โธปิดิกส์ และประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์ มหาบัณฑิต สาขาวิชาเวชศาสตร์การกีฬา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ในคอลัมภ์ บอกเล่าก้าวทันหมอ ของนิตยสาร ฬ.จุฬา ว่า อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับหัวเข่าด้านนอกเกิดจากการเสียดสีกันของแถบเอ็นกล้ามเนื้อต้นขาด้านข้างกับปุ่มประดูก ซึ่งอาการนี้มักเกิดขึ้นในนักวิ่งที่ยืดกล้ามเนื้อก่อนวิ่งไม่เพียงพอ อาการจะเกิดขึ้นเมื่อพยายามเร่งความเร็วในการวิ่งช่วงสั้นๆ หรือข้ามระยะวิ่งจาก 5 กิโลเมตร เป็น 20 กิโลเมตร ทั้งที่ยังฝึกซ้อมได้ไม่มากพอก็อาจมีการนี้

3. กล้ามเนื้อสลาย

สำหรับนักวิ่ง หรือใครที่ออกวิ่งอยู่เป็นประจำก็อาจเกิดอาการกล้ามเนื้อสลายได้ โดยเกิดขึ้นเมื่อต้องวิ่งในระยะทางไกลนานๆ เมื่อเดินทางไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา ก็จะพบค่าเอนไซม์กล้ามเนื้อขึ้นสูงเกินกว่าปกติ มีความเสี่ยงที่กล้ามเนื้อจะสลายตัวปนเข้าไปในเลือดได้ หากนักวิ่งตกอยู่ในภาวะเสี่ยงกล้ามเนื้อสลายและเข้ารับการรักษาไม่ทัน ก็อาจเสี่ยงมีภาวะไตวาย ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้

สังเกตอย่างไรว่าตกอยู่ในภาวะกล้ามเนื้อสลาย เมื่อเข้าห้องน้ำปัสสาวะ ให้ลองสังเกตว่าสีของปัสสาวะมีสีเข้มรึเปล่า หากมีสีเข้มก็ให้ดื่มน้ำเปล่ามากขึ้น

3. อาการบาดเจ็บที่เกิดจากความต่างกันของอุ้งเท้า

คนเราเกิดมาก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันแค่รูปร่าง หน้าตา หรือส่วนสูง แต่จุดเล็กอย่างอุ้งเท้าก็ไม่ได้เหมือนกันไปซะทีเดียว อย่างในนักวิ่ง ความแตกต่างกันของลักษณะอุ้งเท้านี้ก็ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บรูปแบบต่างๆ ได้ เช่น นักวิ่งที่มีอุ้งเท้าสูง มักพบว่ามีอาการเอ็นร้อยหวายตึงมากกว่าปกติ ส่วนนักวิ่งที่มีอุ้งเท้าแบน ก็อาจเกิดอาการปวดที่บริเวณอุ้งเท้า สาเหตุก็มาจากการลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้าด้านในมากกว่าปกติ ฉะนั้น ใครตัดสินใจออกกำลังกายด้วยการวิ่ง หรือเข้าสู่การเป็นนักวิ่ง รองเท้าก็มีส่วนช่วยลดการเกิดอาการบาดเจ็บได้เป็นอย่างดี ควรเลือกให้เหมาะกับเท้าของตนเอง จะได้วิ่งได้นานและต่อเนื่องมากขึ้น